แต่ก่อน...ตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชนเชื้อสายจีน การไหว้ส่งองค์เทพเจ้าขึ้นสู่สรวงสวรรค์แค่เพียงเป็นการไหว้ส่งองค์เทพเจ้าเตา 灶君 (เจากุง) เท่านั้น แต่ในปัจจุบันกลับมักลืมเลือนถึงธรรมเนียมปฏิบัติในอดีต ปัจจุบันจึงมิได้นิยมไหว้ส่งองค์เทพเจ้าเตา 灶君 (เจากุง) เหมือนแต่ก่อนที่เคยนิยมทำกันมา แต่กลับเป็นการไหว้ส่งองค์เทพเจ้าต่างๆแทน แต่ถึงกระนั้นก็ยังคงมีผู้ที่คงรักษาขนมธรรมเนียมโบราณนี้อยู่บ้างเหมือนกัน ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นการไหว้ส่งองค์เทพเจ้าต่างๆ หรือไหว้ส่งองค์เทพเจ้าเตา 灶君 (เจากุง) ก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นการไหว้ส่งองค์เทพเจ้าทุกๆพระองค์ขึ้นสู่สรวงสวรรค์ได้เช่นกัน เว้นแต่องค์เจ้าที่จีน 地主爺(ตี่จู๋เอี๊ย) เท่านั้น ที่ยังคงปกปักรักษาคุ้มครองดูแลอยู่ภายในบ้านในช่วงที่องค์เทพทั้งหลายไม่ได้สถิตอยู่บนโลกมนุษย์เรา
การไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์เป็นการไหว้ส่งเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ขึ้นสวรรค์ ตรงกับวันที่ 24 เดือน 12 ของจีน แม้ว่าการไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์จะไม่ได้อยู่ในพิธี 8 สาร์ท แต่ก็เป็นช่วงคาบเกี่ยวระหว่างสาร์ทที่ 1 กับสาร์ทที่ 8 และ เป็นขั้นตอนที่สำคัญทีเดียว เพราะการไหว้ส่งเจ้าขึ้นสวรรค์เพื่อเริ่มต้นทำความสะอาดสิ่งศักดิ์สิทธิ์ เป็นการบอกกล่าวเทพเจ้าว่า บัดนี้จะทำความสะอาดศาลเจ้า ข้าพเจ้าไม่ได้มาลบหลู่ ขอให้เทพเจ้าโปรดอภัย จากนั้นคนจีนถึงจะล้างเช็ดถูทำความสะอาดศาลเจ้าได้ เป็นการทำให้สถานที่ดูสวยงามขึ้น แม้กระทั่งการทำความสะอาดบ้าน ป้ายชื่อร้าน ซึ่งจะทำปีละครั้งในช่วงวันไหว้สิ้นปี ก่อนวันตรุษจีน 7 วัน เช่นเดียวกับการทำความสะอาดหิ้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้าน ก่อนวันตรุษจีน 7 วัน
คนจีนจะเริ่มทำความสะอาด หิ้งบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ภายในบ้านด้วย โดยในตอนเช้าของวันที่ 24 เดือน 12 ของจีน หรือ เช้าก่อนวันตรุษจีน 7 วัน ให้ตั้งเครื่องบวงสรวงจุดธูปไหว้บอกกล่าวเจ้าว่า วันนี้ขอให้เจ้าทุกองค์เชิญไปขึ้นสวรรค์ เมื่อไหว้บอกกล่าวสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ก็เริ่มทำความสะอาดหิ้งบูชาวันนั้นเลยหรือจะทำวันหลังก็ได้แต่ต้องอยู่ในช่วง 7 วันก่อนถึงวันตรุษจีน
วิธีการไหว้
เครื่องสักการะบูชาไหว้ส่งองค์เทพเจ้าขึ้นสู่สรวงสวรรค์ มีดังนี้
1. กระถางธูป บรรจุผงธูป พร้อมแพรแดง 紅綢(อั่งติ๊ว) และหางนกยูงใหม่ 金花(กิมฮวย)
2. ธูป 3 ดอก
3. แจกันใส่ดอกไม้สด หรือพวงมาลัย
4. กระทงใส่คอซี
- กระทงกระดาษ 1 ใบ
- กระดาษเงินกระดาษทอง大銭(ตั่วกิม) พับเป็นคอซีรูปทองร้อยเป็นวงกลม
5. ส้ม 5 ผล
6. ข้าวสาร 1 จาน (ตั้งไว้จนถึงวันไหว้รับองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ 財神爺 (ไฉ่สิ่งเอี๊ย)
ที่ยามแรกของวันอังคารที่ 5 กุมพาพันธ์ 2562)
7. น้ำเปล่า 1 แก้ว
8. แป้งข้าวเหนียวทอด (กาลอจี๊)
9. กระดาษเขียนชื่อเทพเจ้าเตา 定福灶君 (เตี่ยฮกเจากุง) วางข้างเตา
10. ม้ากระดาษ 紙馬(จั๋วแบ้)
หมายเหตุ ข้อ 9 และข้อ 10 สำหรับการไหว้ส่งองค์เทพเจ้าเตา 灶君 (เจากุง)
โดยกล่าวคำอธิษฐานดังต่อไปนี้
ข้าพเจ้าขอน้อมกราบสักการะบูชาต่อ “องค์เทพเจ้า หรือ องค์เทพเจ้าเตา 灶君 (เจากุง)” ที่ได้มาสถิตประจำในบ้านหลังนี้ ด้วยความเคารพและศรัทธาเป็นอย่างยิ่ง ข้าพเจ้าขอสักการะบูชาพร้อมนอบน้อมถวายเครื่องสักการะ อันประกอบด้วย (กล่าวถึงเครื่องสักการะบูชาทั้งหมด) อีกทั้งผลบุญกุศลอันใดที่ข้าพเจ้าได้สร้างสมไว้แต่ชาติปางก่อนก็ดี ชาตินี้ก็ดี ขอถวายแด่ “องค์เทพเจ้า หรือองค์เทพเจ้าเตา 灶君 (เจากุง)”
ขอพระองค์ทรงรายงานแต่กรรมดีของทุกๆคนในบ้านหลังนี้ต่อองค์เทพผู้เป็นใหญ่บนสรวงสวรรค์ เพื่อประทานพรฝากต่อองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ 財神爺 (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) มอบแก่ข้าพเจ้าและครอบครัว ให้หมดทุกข์หมดโศก หมดโรคพ้นภัยเวร คลาดแคล้วจากภยันตราย อุปสรรค ปัญหาน้อยใหญ่คลี่คลาย จากร้ายกลายเป็นดี มั่งมีศรีสุข พบแต่ความสุขความเจริญ ก้าวหน้ารุ่งเรือง ร่ำรวยมั่งคั่ง อายุยืนยาว สุขภาพพลานามัย แข็งแรงสมบูรณ์ คู่แข่งศัตรูร้ายพ่ายแพ้ พบแต่ความสิริมงคลทุกประการ ตลอดทั้งปีด้วยเทอญ
ข้าพเจ้าจะประพฤติแต่กรรมดี สาธุ สาธุ สาธุ
จากนั้นนำเครื่องเซ่นบวงสรวงที่เป็นกระดาษทั้งหมด รวมทั้งม้ากระดาษ 紙馬(จั๋วแบ้) และชื่อเทพเจ้าเตา定福灶君 (เตี่ยฮกเจากุง) (กรณีที่ไหว้ส่งองค์เทพเจ้าเตา 灶君 (เจากุง) ที่ได้จัดเตรียมไว้ลาต่อ “องค์เทพเจ้า หรือองค์เทพเจ้าเตา 灶君 (เจากุง)” ท่าน เพื่อนำไปบูชาไฟถวายแด่พระองค์ท่านฯ หลังจากนั้นจัดเก็บเครื่องเซ่นบรวงสรวงที่เหลือ ส่วนที่รับประทานได้ก็ให้นำมาบริโภคเพื่อความสิริมงคลของทุกๆในบ้าน (เหลือแต่เพียงจานข้าวสารที่ต้องตั้งไว้จวบจนถึงวันไหว้รับองค์เทพเจ้าแห่งโชคลาภ 財神爺 (ไฉ่สิ่งเอี๊ย) จึงจะสำเร็จเสร็จสิ้นพิธีการบวงสรวงครบถ้วนกระบวนในปี